home Seminars งานเสวนา บวท. เรื่อง “genome editing technology ไทยพร้อมใช้หรือยัง?”

งานเสวนา บวท. เรื่อง “genome editing technology ไทยพร้อมใช้หรือยัง?”

มนุษย์กับการปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ อาจเริ่มมาพร้อมๆ กับการที่มนุษย์ทำการเกษตรกรรม เช่นการเก็บพันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการไว้สำหรับปลูกรอบถัดไป หรือการนำพันธุ์ที่ต้องการมาผสมกันเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เช่น สี ขนาด และ/หรือการต้านทานโรค เกิดลูกผสมเป็นพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมข้ามพันธุ์นั้น ใช้เวลานานและอาจจะไม่ได้ลักษณะตามที่ต้องการ และเมื่อช่วงทศวรรษที่ 70 – 80 ที่ผ่านมาเริ่มใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมทำให้การปรับปรุงพันธุ์เร็วขึ้น แต่เครื่องมือที่ใช้ในการดัดแปลงพันธุกรรมในยุคนั้น ยังมีความแม่นยำในตำแหน่งที่จะทำการปรับเปลี่ยนน้อย และคงทิ้งชิ้นส่วนสารพันธุกรรมที่ใช้ในการคัดเลือกพันธุ์อยู่ในพันธุ์ใหม่ที่ถูกปรับปรุงขึ้น ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการตัดต่อ DNA สายคู่ให้มีความแม่นยำมากขึ้น เช่น nonhomologous end joining (NHEJ), Insertion–deletion mutations (indels), zinc-finger nucleases (ZFNs), transcription activator-like effector nucleases (TALENs) และเมื่อปี พ.ศ. 2555 มีการค้นพบ CRISPR-Cas9 โดย Jennifer Doudna และ Emmanuelle Charpentier ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความจำเพาะและแม่นยำต่อตำแหน่ง DNA ที่ถูกออกแบบให้ตัดและสามารถต่อชิ้นส่วน DNA ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมากใน genome editing technology ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 มะเขือเทศที่มี GABA: γ-aminobutyric acid สูง ซึ่งเป็นพืชที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วย genome editing technology โดย University of Tsukuba และ Sanatech Seed Co. Ltd. ได้รับอนุญาตจากประเทศญี่ปุ่นให้จำหน่ายเชิงพาณิชย์โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบเหมือนอาหารที่มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมแบบเดิมเป็นครั้งแรก เนื่องจากไม่มีดีเอ็นเอแปลกปลอม
และในอีก 3 ปีต่อมา กรมวิชาการเกษตร แห่งประเทศไทย ได้มีประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองพืชที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (genome editing) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ซึ่งถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่งของการกำกับดูแลพันธุ์พืชใหม่ในประเทศ บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นนี้ และคำนึงถึงการส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ genome editing ในประเทศทั้งในสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จึงจัดให้มีงานเสวนา บวท. เรื่อง “genome editing technology ไทยพร้อมใช้หรือยัง?” เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแล และนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นการเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นที่สนใจในวงกว้างต่อประชาชนทั่วไป

ท่านสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานเสวนาได้ที่: https://forms.gle/mdyAe5breWP2Wcok7

ปิดรับลงทะเบียนภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567