เกี่ยวกับ

มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 จากการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลงานต่อเนื่องในวิชาชีพของตนมาเป็นเวลานาน และมีความสนใจและประสบการณ์ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ มีการดำเนินงานแบบองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ (non-government agency) เพื่อประกันความเป็นกลางในการพิจารณาเสนอแนะเรื่องต่างๆ ที่มีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง สมาชิกและภาคีสมาชิก ของ บวท. ได้จากการสรรหาโดยมีคณะอนุกรรมการสรรหาสมาชิกเป็นผู้คัดเลือกจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อว่าเป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบข้อบังคับ แล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพิจารณานำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีเพื่อทราบ

วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมและผลักดันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของชาติในด้านต่อไปนี้
– การบริหารทรัพยากรธรรมชาติ
– ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
– การรักษาคุณภาพชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม
– การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
2. ศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและปัญหาอุปสรรคของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. ให้ข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้านวิทยาศาสตร์ต่อสาธารชนและรัฐบาล
4. ส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี
5. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีไทยให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
6. ส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิชาการสาขาต่าง ๆ และศิลปวัฒนธรรมของชาติ
7. ส่งเสริมความร่วมมือกับสมาคม มูลนิธิ สถาบันวิชาการในการพัฒนากำลังคนและความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8. สร้างสัมพันธ์กับองค์กรต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
9. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ
2. การดำเนินการพัฒนาเยาวชนผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. การเผยแพร่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหมู่ประชาชนทั่วไป
4. “เสวนาวิจัยยอดเยี่ยม บวท.” การเสวนาผลงานวิจัยสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. การประเมินผลการดำเนินการของมหาวิทยาลัย/สถาบันและหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6. ความร่วมมือกับต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นในประเทศ
7. การพัฒนาโครงสร้างและการดำเนินงานของ บวท.

หน้าที่ของ บวท. ต่อสังคม
บวท. ตระหนักถึงเรื่องสำคัญต่างๆ ของชาติที่มีเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างกว้างขวาง และต้องการการวิเคราะห์และสรุปประเด็น โดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้น บวท. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบุคคลที่มีประสบการณ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการหยิบยกเรื่องสำคัญดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ โดยมีการวิจัยศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาประกอบ โดยเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อสรุป ศึกษาเพิ่มเติม หรือหาแนวทางในการดำเนินการต่อไปในอนาคต